ทดสเตอร์อย่างไรให้เหมาะกับการใช้งาน
สเตอร์เป็นสิ่งที่ต้องอยู่คู่กับโซ่ หน้าตาของสตอร์นั้นจะเป็นโลหะที่มีลักษณะคล้ายฟันเฟืองมีลักษณะเป็นรูปดาวแฉกๆ แต่ที่ตรงขอบจะมีความบางมากกว่าจะมีลักษณะเป็นฟันคอยทำหน้าที่ยึดเกาะกับโซ่โดยทำหน้าที่ถ่ายทอดกำลังเครื่องยนต์มาสู่ล้อหลังที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อน โดยรถที่มาจากโรงงานผู้ผลิตนั้นจะมีการคำนวณของจำนวนฟันสเตอร์หน้าและหลังให้มีลักษณะที่ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป
หลักการคำนวณการทดสเตอร์อย่างง่ายโดยการหารตัวเลขของสเตอร์หน้า-หลัง เช่นสเตอร์หน้า 15 ฟัน กับสเตอร์หลัง 43 ฟัน ก็ให้เอาจำนวนมากกว่ามาหาร เช่น 43 ÷ 15 = 2.86666666667 จะสังเกตได้ว่าการหารนั้นจะมีจุดทศนิยมอยู่ ซึ่งก็หมายความว่าในการหมุนของฟันสเตอร์หน้าและหลังจะไม่มีทางที่ฟันสเตอร์หน้ากับหลังจะลงที่ร่องโซ่เดียวกันในทุก ๆ รอบ แต่ถ้าเป็นแบบ 15/30 เมื่อหารแล้วจะได้เท่ากับ 2 พอดีไม่มีจุดทศนิยมเลย เท่ากับว่าสเตอร์หน้าหมุนสองรอบ ในขณะที่สเตอร์หลังหมุนหนึ่งรอบพอดี ๆ เมื่อเป็นอย่างนี้จะทำให้การสึกหรอของสเตอร์ไม่บาลานซ์กันเพราะจะไม่มีการสลับระหว่างฟันสเตอร์กับร่องโซ่ ตรงชุดไหนที่สึกหรอมากกว่าก็สึกหรอไป ซึ่งจะทำให้รูปร่างของสเตอร์ไม่กลม และจะทำให้อายุการใช้งานน้อยลงได้ จะมีอาการเดี๋ยวโซ่ตึงเดี๋ยวหย่อนเมื่อล้อหมุนไปเรื่อย ๆ จะทำให้เกิดการกระชากได้ และยังตั้งความตึงของโซ่ได้ไม่ดีอีกด้วย
การเปลี่ยนเบอร์ของสเตอร์นั้นจะนิยมเปลี่ยนที่สเตอร์หลังมากกว่า โดยให้เอาค่าสแตนดาร์ดที่มาจากโรงงานมาคำนวน หากว่าผู้ขับขี่เน้นการใช้งานเฉพาะในเมือง มีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ ใช้งานแบบซ้อนสองหรือบรรทุกของหนักอยู่เป็นประจำนั้น ก็จะต้องทดสเตอร์หลังให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้รถมีรอบเครื่องยนต์ที่สูง มากกว่าเดิมในความเร็วที่เท่าเดิม และในทางกลับกันหากผู้ขับขี่เน้นใช้งานเดินทางออกนอกเมืองเป็นหลัก และขับขี่เดินทางเพียงคนเดียวตลอดหากต้องการเน้นให้รอบเครื่องต่ำลงกว่าเดิมอีกเล็กน้อยเพื่อเป็นการถนอมเครื่องยนต์เพราะต้องใช้เวลาในการเดินทางเป็นระยะเวลานาน ก็ให้ทดสเตอร์หลังให้ลดลงกว่าเดิมสัก 1 -2 ฟัน ก่อน โดยจะต้องคำนวณเอาจำนวนฟันของสเตอร์หลังมาหารสเตอร์หน้า โดยหลีกเลี่ยงจำนวนผลลัพท์ที่ลงตัว แล้วลองทดสอบขับขี่ไปสักระยะ หากยังไม่พอใจก็เปลี่ยนใหม่จนได้ค่าที่ลงตัว หลังจากนั้นก็ให้จำค่าสเตอร์ที่เหมาะสมกับตัวเองเผื่อเวลาเปลี่ยนใหม่จะมีค่าทดสเตอร์หน้าหลังที่เป็นลักษณะพิเศษของตัวเอง